A World-Leading Company In Welding Solutions

เทคนิคแบ็คสเตป

ในการเชื่อมด้วยลวดเชื่อมหุ้มฟลักซ์ชนิดไฮโดรเจนต่ำ ปัญหาหนึ่งที่ช่างเชื่อมมักจะพบคือ การเกิดฟองอากาศบริเวณเริ่มต้นแนวเชื่อม หรือจุดต่อรอยเชื่อมที่ซึ่งมีการเริ่มต้นอาร์ก บางครั้งฟองอากาศดังกล่าวก็สามารถมองเห็นได้เลย แต่ในบางครั้งฟองอากาศดังกล่าวก็จะฝังตัวอยู่ภายในรอยเชื่อมซึ่งจะถูกตรวจพบโดยการตรวจสอบแบบไม่ทำลาย เช่นการถ่ายภาพรังสี (Radiographic Test: RT) หรือการตรวจสอบด้วยคลื่นความถี่สูง (Ultrasonic Test: UT) ซึ่งฟองอากาศที่เกิดขึ้นส่งผลกระทบต่อความแข็งแรงของรอยเชื่อม และเป็นสิ่งบกพร่องที่จำเป็นต้องได้รับการซ่อมแซมหากเกิดขึ้นในปริมาณมาก

ฟองอากาศที่ว่านี้ มีสาเหตุมาจาก การใช้เทคนิคการเริ่มต้นเชื่อมที่ไม่ถูกต้อง เพราะฟลักซ์ที่หุ้มลวดเชื่อมชนิดไฮโดรเจนต่ำ ทำมาจากวัตถุดิบประเภทหินปูน หรือ แคลเซียมคาร์บอเนต ซึ่งจะสลายตัวเกิดเป็นแก๊สปกคลุมรอยเชื่อมได้ก็ต่อเมื่ออุณหภูมิสูงเพียงพอเท่านั้น ในการเริ่มต้นอาร์ก อุณหภูมิของฟลักซ์บริเวณปลายลวด จะยังไม่สูงเพียงพอที่จะทำให้เกิดแก๊สปกคลุมออกมาได้อย่างเพียงพอ จึงทำให้บริเวณเริ่มต้นรอยเชื่อมถูกอากาศภายนอกแทรกตัวเข้าไป เกิดเป็นฟองอากาศฝังตัวภายในรอยเชื่อม

วิธีป้องกันก็คือ การใช้เทคนิคเริ่มต้นอาร์กที่เรียกว่า "Back-Step Technic" ซึ่งสามารถดูได้จากรูปสเก็ตช์ (ขวาล่าง) โดยจะทำการเริ่มต้นอาร์กที่ตำแหน่ง 1 จากนั้นเคลื่อนลวดเชื่อมไปที่ตำแหน่ง 2 โดยไม่ต้องสร้างรอยเชื่อม จากนั้นเคลื่อนที่ไปที่ตำแหน่ง 3 ซึ่งจะเป็นตำแหน่งที่เริ่มเชื่อมจริง การทำเช่นนี้ ก็เพื่อเป็นการทำให้อุณหภูมิของปลายลวดสูงพอที่จะทำให้ผงฟลักซ์สลายตัวเกิดเป็นแก๊สปกคลุมบริเวณเริ่มต้นเชื่อมได้ และนั่นก็คือ การป้องกันการเกิดฟองอากาศบริเวณเริ่มต้นเชื่อม

คำอธิบายภาพ
ซ้าย: ภาพจากฟิล์ม X-ray แสดงให้เห็นฟองอากาศที่ฝังตัวอยู่ในรอยเชื่อม ซึ่งมักจะเป็นบริเวณจุดต่อรอยเชื่อม และเกิดขึ้นเนื่องจากเทคนิคการเริ่มต้นอาร์กที่ไม่ถูกต้อง
ขวาบน: ภาพถ่ายรอยเชื่อมโดยใช้เทคนิคการเริ่มต้นอาร์กต่างกัน รอยเชื่อมที่ 1 ใช้เทคนิค Back-Step Technic ส่วนรอยเชื่อมที่ 2 เริ่มต้นอาร์กแบบธรรมดา
ขวาล่าง: ภาพสเก๊ตช์แสดงการเริ่มต้นอาร์กแบบ Back-Step Technic