การเชื่อมยึด เรื่องง่ายๆที่ไม่ง่ายนัก
ตามปกติ ในการทำงานเชื่อม เรามักจะต้องมีการเชื่อมยึดเพื่อประกอบชิ้นงานให้อยู่ในตำแหน่งที่ต้องการเรียบร้อยก่อน จึงเริ่มทำการเชื่อมจริง การเชื่อมยึดอาจเป็นเรื่องที่ใครๆ มองว่า "ไม่เห็นสำคัญเลย เพราะต้องมีการเชื่อมจริงอีกครั้งหนึ่งอยู่แล้ว" แต่จะมีใครทราบมั๊ยว่า รอยเชื่อมยึดนี่แหละ เป็นแหล่งรวมสิ่งบกพร่องทั้งหลายเลยทีเดียว ไม่ว่าจะเป็นรอยแตกร้าว ฟองอากาศ รอยกัดขอบ รอยเกย ฯลฯ ทั้งนี้เนื่องจาก การเชื่อมยึดมักจะไม่ได้รับความสำคัญเท่าที่ควร ไม่ว่าจะเป็นการเลือกใช้ลวดเชื่อม หรือเทคนิคการเชื่อมที่ถูกต้อง
ในบทความเราลองมาดูกันนะครับว่า รอยเชื่อมยึดที่เหมาะสมควรเป็นอย่างไร
1. ลวดเชื่อมที่ใช้ในการเชื่อมยึดควรเป็นลวดชนิดเดียวกับที่จะใช้ในการเชื่อมจริง อย่างเช่น ถ้าลวดเชื่อมที่จะใช้เชื่อมจริงเป็น ชนิดไฮโดรเจนต่ำ ลวดเชื่อมที่ใช้เชื่อมยึดก็ควรเป็นลวดเชื่อมชนิดไฮโดรเจนต่ำด้วยเช่นกัน
2. ลวดเชื่อมที่ใช้เชื่อมยึดควรมีขนาดเล็กกว่าลวดเชื่อมที่ใช้เชื่อมจริง เพื่อให้สามารถหลอมละลายรอยต่อได้ดีกว่า
3. ในกรณีของการเชื่อมต่อชนแบบบากร่อง รอยเชื่อมยึดไม่ควรอยู่ในตำแหน่งที่จะทำการเชื่อมจริง หรือหากหลีกเลี้ยงไม่ได้ ก็ควรกำจัดออกก่อนที่จะทำการเชื่อมจริง ไม่ควรเชื่อมทับลงไปเลย เพราะอาจทำให้รอยเชื่อมจริงมีสิ่งบกพร่องได้
4. ในกรณีของการเชื่อมต่อฉาก รอยเชื่อมยึดอาจไม่ถูกกำจัดก่อนเชื่อมจริง แต่อาจถูกเชื่อมทับลงไปเลย ในกรณีนี้ รอยเชื่อมยึดควรมีขนาดเล็ก และจำนวนน้อยที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ เพื่อลดโอกาสเกิดสิ่งบกพร่องในรอยเชื่อมจริง
5. ควรหลีกเลี่ยงการเชื่อมยึดในตำแหน่งที่เป็นจุดกระจุกตัวของความเค้น เช่นบริเวณมุมของชิ้นงาน (ดังในรูปประกอบ)
หากสามารถทำได้ดังที่กล่าวมา ปัญหาเรื่องสิ่งบกพร่องในรอยเชื่อมก็จะลดลง และงานเชื่อมที่ได้ย่อมมีคุณภาพที่ดีขึ้นด้วย